ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556



แผ่เมตตา

คุณลักษณะของคนที่ชอบทำบุญ มีอยู่ประการหนึ่ง ที่เหมือน ๆ กัน ก็คือ หลังจากไปสร้างคุณงามความดี หรือไปอิ่มบุญมาด้วยการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ จะด้วยวิธีใด และที่แห่งหนตำบลใดมาแล้วก็ตาม สิ่งที่ลงเอยเหมือนกันคือ คนที่เขาใจบุญจริง ๆ เขามักไม่เก็บบุญ หรือขี้เหนียวบุญไว้เชยชมเพียงผู้เดียว แต่เขาจะมีวิธีการขยายบุญหรือดับเบิลบุญให้มากทวีคูณยิ่งขึ้น ในที่นี้ขอเรียกว่า "แผ่เมตตา"
     การแผ่เมตตามีวิธีทำอย่างไร ?
     มีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร ?
     และมีประโยชน์กี่มากน้อย ?

     ตรงนี้มีคำตอบ ครับคำตอบก็คือ พระพุทธเจ้าตอบ(ตรัส)ว่า เบื้องต้นเลย เราต้องตั้งใจ(จิต)ปรารถนาให้ผู้อื่น สัตว์อื่นให้มีความสุข ไม่ว่าเป็นเชื้อชาติ ลัทธิ ศาสนาใดก็ตาม หรือไม่ว่าคนๆ นั้น สัตว์นั้น จะเคยทำให้เราพอใจหรือไม่ก็ตามเถอะ เราควรจะมีจิตดวงเดียวแผ่เมตตา ให้ความรัก ความเอ็นดูจากดวงจิตอันใสสะอาด อย่างเท่าเทียมกัน เสมือนหนึ่งเป็นพ่อแม่ เป็นคนรักของเรา ถึงแม้คนที่เราเคยอาฆาตพยาบาทว่าชาตินี้ทั้งชาติหรือจะชาติไหน ๆ จะต้องล้างแค้นให้ได้ก็ตามที พระองค์บอกว่า ...ควรแผ่เมตตาให้เสมอภาค กระผมเชื่อว่าตรงนี้เป็นเรื่องยากสำหรับคู่กรณีบางท่าน แต่ถ้าเราทุกคนเชื่อในคำสอนพระพุทธเจ้าก็ทำไปเถอะครับ เพราะทำไปแล้วชีวิตนี้มีแต่ได้กับได้ ไม่เห็นมีทางเสียเลย

     ส่วนคำแผ่เมตตามีอยู่หลายบท ทั้งแบบสั้น และแบบยาว ด้วยเนื้อที่จำกัดจึงขอแบบสั้น ๆ เท่านั้น

คำแผ่เมตตาที่ใช้ในวงกว้าง

"สัพเพ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ" แปลว่า

ขอสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น
จงเป็นสุข ๆ เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย,
จงเป็นสุข ๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย,
จงเป็นสุข ๆ เถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์(ลำบาก)ใจเลย
จงมีแต่ความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด
ท่านทั้งหลายที่ได้ทุกข์ ขอให้พ้นจากทุกข์ ท่านทั้งหลายที่ได้สุข ขอให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป

คำแผ่เมตตาที่ระบุชื่อวงจำกัดเช่นบิดามารดา ญาติ ครู อุปัชฌาอาจารย์ พระภูมิเจ้าที่และอื่นๆ ตัวอย่างเช่น.

     1. อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร แปลว่า ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข

     2. อิทัง โน (เม) ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหตุ ญาตะโย แปลว่า ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงเป็นสุข ๆ เถิด

     3. อิทัง เม คะรุปัชฌายาจะริยา นัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คะรุปัชฌายาจริยา ฯ แปลว่า ขอบุญนี้ จงสำเร็จแก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า จงมีความสุข

     4. อิทัง เทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ เทวะตาโย ฯ แปลว่า ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลาย ขอให้เทวดาทั้งหลาย จงมีความสุข

     5. อิทัง เปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ เปตาฯ แปลว่า ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จ แก่เปตรทั้งหลาย ขอให้เปรตทั้งหลาย จงมีความสุข

     6. อิทัง สัพพะเวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรีฯ แปลว่า ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงมีความสุข

ครับผมได้นำตัวอย่างการแผ่เมตตาแบบสั้น ๆ มาฝากให้อ่านเล่น ๆ กันแล้วหวังว่าท่านจะหยิบ
ไปใช้ในโอกาสที่อำนวยกันบ้างนะครับ …..ที่นี้อยากพูดถึงประโยชน์ของการแผ่เมตตาบ้าง

ประโยชน์จากการแผ่เมตตา

ผู้ที่เจริญเมตตาธรรมอยู่เสมอ ๆ จนจิต ติดมั่นในเมตตา มีเมตตาเป็นสมบัติ(อารมณ์) ประจำใจ
อันดับแรก ทำให้ตัวเองมีความสุขสงบ สว่าง โปร่งโล่ง ไร้ปัญหาติดขัดนานาประการตลอดชีวิต
อันดับต่อมา ทำให้สังคมระดับรากหญ้า (ครอบครัว) และระดับประเทศ ระดับโลก ได้รับสันติสุขแท้จริง ถาวรอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ประโยชน์การแผ่เมตตาที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้มี 11 ประการได้แก่
     1. (ทำให้)หลับก็เป็นสุข
     2. ตื่นก็เป็นสุข
     3. ไม่ฝันร้าย
     4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
     5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย (ผี เปรต อสุรกาย วิญญาณต่าง ๆ )
     6. เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครอง
     7. แคล้วคลาดจากภยันอันตราย
     8. จิตเป็นสมาธิได้ง่าย
     9. สีหน้าย่อมผ่องใส
     10. เมื่อจะตายใจก็สงบ(สู่สุคติภูมิ)
     11. ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมพิเศษที่สูงกว่า ย่อมเข้าถึงชั้นพรหม

ครับทั้งหมดนี้คือ ผลที่ได้จากการแผ่เมตตา ถ้าท่านเห็นว่า ดี มีประโยชน์ทั้งส่วนตัว และส่วนรวม ลงมือปฏิบัติ สิครับ อีกทั้งได้ชื่อว่ารักษาพุทธเจตนารมย์ของพระพุทธองค์ที่ว่า " โลโกปัตถัมภิกา เมตตา" เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก…(เกิดจากการแผ่ให้)




โดย : นายภัครวัฒน์ ดวงงาม, ธรรมะไทย



๏ พุทธานุสติ ๏


พุทธานุสติ เป็นการทำสมาธิวิธีหนึ่ง โดยการน้อมจิตระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา เพื่อให้จิตรวมเป็นหนึ่ง คือคิดถึงเรื่องคุณของพระพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียว ไม่คิดวอกแวกถึงเรื่องอื่น จิตจึงเป็นสมาธิขึ้นมาได้

ผลจากการระลึกฯ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะเป็นการปรับสภาพจิตให้ประณีตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะทำให้จิตเข้าสู่ระดับมหากุศลขั้นพื้นฐาน อันเนื่องมาจากความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธานั่นเอง อันจะส่งผลให้สมาธิเกิดได้ง่ายขึ้น

การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้านั้นเช่น การระลึกตามบทสวดมนต์ภาษาบาลีที่ว่า


" อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ "


หรือจะระลึกตามคำแปลของบท"อิติปิโส"นี้ ที่แปลว่า


" เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ* เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้ "


หรืออาจจะระลึกเพียงสั้นๆ ว่า "พุทโธ" ซ้ำไปเรื่อยๆ ก็ได้


การจะระลึกว่าอะไรนั้นไม่สำคัญนัก ที่สำคัญคือ จะต้องระลึกพร้อมด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นหลัก


ในทางกลับกัน ถึงแม้จะระลึกด้วยบทที่กล่าวมาแล้ว หรือด้วยบทใดๆ ก็ตาม แต่ไม่ได้ประกอบด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ก็จะไม่จัดว่าเป็นพุทธานุสติเลย


จรณะ = เครื่องดำเนิน ประดุจเท้า คือ ศีล และวัตรข้อปฏิบัติต่างๆ อันหมดจดงดงาม ไม่ด่างพร้อย ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันนั่นเอง


วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556



สมาธิเบื้องต้น
อานาปานัสสติ
สำหรับคนทั่วไปอย่างง่าย

ธรรมะเทศนา
โดย
พระธรรมโกศาจารย์
(ท่านเจ้าคุณพุทธทาส อินทปัญโญ)
__________________________________________

๑. ศรีษะตั้งตรงตามองไปที่ปลายจมูกให้อย่างยิ่งจนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นหรือไม่เห็นอะไรหรือไม่ก็ตามขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้าจะได้ผลดีกว่าหลับตา และไม่ชวนง่วงนอนได้ง่ายด้วย โดยเฉพาะคนขี้ง่วงให้ทำอย่างลืมตานี้แทนหลับตา ทำไปเรื่อยๆ ตามันจะหลับของมันเองในเมื่อถึงขั้นที่มันจะต้องหลับ หรือจะทำอย่างหลับตาเสียตั้งต่ต้นก็ตามใจ แต่วิธีที่ลืมตานั้นจะมีผลดีกว่าหลายอย่าง แต่ว่าสำหรับบางคนรู้สึกว่าทำยาก โดยเฉพาะพวกที่ยึดถือในการหลับตาย่อมไม่สามารถทำอย่างลืมตาได้เลย

๒. มือปล่อยวางไว้บนตักซ้อนกันตามสบาย ขาขัดหรือซ้อนกันโดยวิธีที่จะช่วยยันน้ำหนักตัวให้นั่งได้ถนัดและล้มยาก ขาขัดอย่างซ้อนกันธรรมดา หรือจะขัดไขว้กันนั้นแล้วแต่จะชอบหรือทำได้ คนอ้วนจะขัดขาไขว้กันอย่างที่เรียกว่า ขัดสมาธิเพชรนั้น ทำได้ยากและไม่จำเป็น ขอแต่ให้นั่งคู้ขาเข้ามา เพื่อรับน้ำหนักตัวให้สมดุลล้มยากก็พอแล้ว ขัดสมาธิอย่างเอาจริงเอาจัง ยากๆแบบต่างๆ นั้น ไว้สำหรับเมื่อจะเอาจริงอย่างโยคีเถิด

๓. ในกรณีพิเศษสำหรับคนป่วยคนไม่ค่อยสบายหรือแม้แต่คนเหนื่อย จะนั่งอิงหรือนั่งเก้าอี้หรือเก้าอี้ผ้าใบสำหรับเอนทอดเล็กน้อย หรือนอนเลย สำหรับคนเจ็บไข้ก็ทำได้ ทำในที่ไม่อับอากาศ หายใจได้สบายไม่มีอะไรกวนใจเกินไป

๔. เสียงอึกทึกที่ดังสม่ำเสมอ และไม่มีความหมายอะไร เช่น เสียงคลื่น เสียงโรงงาน เหล่านี้ไม่มีอุปสรรค เว้นแต่จะไปยึดถือเอาว่าเป็นอุปสรรคเสียเอง เสียงที่มีความหมายต่างๆ เช่น เสียงคนพูดกันนั้นเป็นอุปสรรคแก่ผู้หัดทำ ถ้าหาที่เงียบเสียงไม่ได้ ก็ให้ถือว่าไม่มีเสียงอะไร ตั้งใจทำไปก็แล้วกัน มันจะค่อยได้เอง

๕. ทั้งที่ตามองเหม่อดูปลายจมูกอยู่ก็สามารถรวม ความนึกหรือความรู้สึก หรือเรียกภาษาวัดว่า สติ ไปกำหนดจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของตัวเองได้ คนที่ชอบหลับตา ก็หลับตาแล้วตั้งแต่ตอนนี้ คนที่ชอบลืมตาลืมไปได้เรื่อยจนมันค่อยๆหลับของมันเองเมื่อเป็นสมาธิมากขึ้นๆ

๖. เพื่อจะให้กำหนดได้ง่ายๆ ในขั้นแรกหัด ให้พยายามหายใจให้ยาวที่สุดที่จะยาวได้ด้วยการฝืนทั้งเข้าและออกหลายๆครั้งเสียก่อน เพื่อจะได้รู้ของตัวเองให้ชัดเจนว่าลมหายใจที่มันลากเข้าลากออกเป็นทางอยู่ภายในนั้น มันลากถูหรือกระทบอะไรบ้าง ในลักษณะอย่างไร และกำหนดได้ง่ายๆ ว่ามันไปรู้สึกว่าสุดลงที่ตรงไหนที่ในท้อง โดยเอาความรู้สึกที่กระเทือนนั้นเป็นเกณฎ์พอเป็นเครื่องกำหนดง่ายๆ เท่าที่จะกำหนดได้

๗. คนธรรมดาจะรู้สึกลมหายใจกระทบปลายจะงอยจมูก ให้ถือเอาตรงนั้นเป็นที่สุดข้างนอก ถ้าคนจมูกแฟบ หน้าหัก ริมฝีปากบนเชิด ลมจะกระทบริมฝีปากบน อย่างนี้ก็ให้กำหนดเอาที่ตรงนั้นว่าเป็นที่สุดท้ายข้างนอก แล้วก็จะได้จุดทั้งข้างนอกและข้างใน โดยกำหนดเอาว่าที่ปลายจมูกจุดหนึ่งที่สะดือจุดหนึ่ง แล้วลมหายใจได้ลากตัวมันเองไปมาอยู่ระหว่างสองจุดนี้ ขึ้นลงอยู่เสมอ

๘. ทีนี้ทำใจของเราให้เป็นเหมือนอะไรที่คอยวิ่งตามลมนั้นไม่ยอมพรากทุกครั้งที่หายใจทั้งขึ้นและลงตลอดเวลาที่ทำสมาธินี้ จัดเป็นขั้นหนึ่งของการกระทำ เรียกกันง่ายๆ ในที่นี่ก่อนว่า ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" กล่าวมาแล้วว่าเริ่มต้นทีเดียวให้พยายามฝืนหายใจให้ยาวที่สุด และแรงๆ และหยาบที่สุดหลายๆครั้ง เพื่อให้พบจุดหัวท้ายแล้วพบเส้นที่จะลากอยู่ตรงกลางๆให้ชัดเจน

๙. เมื่อ จิตหรือสติ จับหรือกำหนดลมหายใจที่เข้าๆ ออกๆ ได้โดยทำความรู้สึกที่ๆ ลมมันกระทบลากไปแล้วไปสุดลงที่ตรงไหน แล้วจึงกลับเข้าหรือกลับออกก็ตามดังนี้แล้ว ก็ค่อยๆ ผ่อนให้การหายใจนั้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหายใจอย่างธรรมดา โดยไม่ต้องฝืน แต่สตินั้นคงกำหนดที่ลมได้ตลอดเวลา ตลอดสาย เช่นเดียวกับเมื่อแกล้ง หายใจหยาบแรงๆ นั้น เหมือนกัน คือ กำหนดได้ตลอดสายที่ลมผ่านจากจุดข้างในคือสะดือ หรือท้องส่วนล่างก็ตาม ถึงจุดข้างนอกคือปลายจมูก หรือปลายริมฝีปากบนแล้วแต่กรณี ลมหายใจจะละเอียดหรือแผ่วลงอย่างไร สติก็คงกำหนดได้ชัดเจนอยู่เสมอไปโดยให้การกำหนดนั้นละเอียดเข้ามาตามส่วน

๑๐. ถ้าเผอิญเป็นว่าเกิดกำหนดไม่ได้ เพราะลมหายใจละเอียดเกินไปก็ให้ตั้งต้นหายใจให้หยาบ หรือแรงกันไปใหม่ แม้จะไม่เท่าทีแรกก็เอาพอให้กำหนดได้ชัดเจนก็แล้วกัน กำหนดกันใหม่จนให้มีสติรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจไม่มีขาดตอนให้จนได้ คือจนกระทั่งหายใจอยู่ตามธรรมดาไม่มีฝืนอะไรก็กำหนดได้ตลอด มันยาวหรือสั้นแค่ไหนก็รู้ มันหนักหรือเบาเพียงไหนก็รู้พร้อมอยู่ในนั้น เพราะสติเพียงแต่คอยเกาะแจอยู่ติดตามไปมาอยู่กับลมตลอดเวลา ทำได้อย่างนี้เรียกว่า ทำการบริกรรมใน ขั้น "วิ่งตามไปกับลม" ได้สำเร็จ

๑๑. การทำไม่สำเร็จนั้นคือ สติ หรือความนึก ไม่อยู่กับลมตลอดเวลา เผลอเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มารู้เมื่อมันไปแล้ว และก็มีรู้มันไปเมื่อไร โดยอาการอย่างไร เป็นต้น พอรู้ก็จับตัวมันมาใหม่และฝึกกันไปกว่าจะได้ขั้นนี้ ครั้งหนึ่ง ๑๐ นาที เป็นอย่างน้อยแล้วค่อยฝึกขั้นต่อไป

๑๒. ขั้นต่อไปซึ่งเรียกว่า ขั้นที่สอง หรือ ขั้น "ดักดูอยู่แต่ตรงที่แห่งใดแห่งหนึ่ง" นั้น จะทำต่อเมื่อทำขั้นแรกข้างต้นได้แล้วเป็นดีที่สุด หรือใครจะสามารถข้ามมาทำขั้นที่สองนี้ได้เลยก็ไม่ว่า ในขั้นนี้จะให้ สติหรือความนึก คอยดักกำหนดอยู่ตรงที่ใดแห่งหนึ่งโดยเลิกการวิ่งตามลมเสีย ให้กำหนดความรู้สึกเมื่อลมหายใจเข้าไปถึงที่สุดข้างใน คือสะดือ ครั้งหนึ่งแล้วปล่อยว่างหรือวางเฉย แล้วมากำหนดรู้สึกกันเมื่อลมออกมากระทบที่สุดข้างนอก คือปลายจมูกอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ปล่อยว่างหรือวางเฉย จนมีการกระทบส่วนสุดข้างในคือสะดืออีก ทำนองนี้เรื่อยไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง

๑๓. เมื่อเป็นขณะที่ปล่อยวาง หรือวางเฉยนั้น จิตก็ไม่ได้หนีไปอยู่บ้านช่องไร่นา หรือที่ไหนเลยเหมือนกัน แปลว่า สติคอยกำหนดที่ส่วนสุดข้างในหนึ่ง ข้างนอกแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นปล่อยเงียบหรือว่าง เมื่อทำได้อย่างนี้เป็นที่แน่นอนแล้ว ก็เลิกกำหนดข้างในเสีย คงกำหนดแต่ข้างนอก คือที่ปลายจมูกแห่งเดียวก็ได้ สติคอยเฝ้ากำหนดอยู่แต่ที่จะงอยจมูกไม่ว่าลมจะกระทบเมื่อหายใจเข้าหรือเมื่อหายใจออกก็ตาม ให้กำหนดรู้ทุกครั้ง สมมติเรียกว่า เฝ้าแต่ตรงปากประตูให้มีความรู้สึกครั้งหนึ่งๆ เมื่อลมผ่านออกนั้นว่างหรือเงียบ ระยะกลางที่ว่างหรือเงียบนั้น จิต ไม่ได้หนีไปอยู่ที่บ้านช่องหรือที่ไหนอีกเหมือนกัน

๑๔. ทำได้อย่างนี้เรียกว่า ทำบริกรรมใน ขั้น "ดักอยู่แต่ในที่แห่งหนึ่ง" นั้นได้สำเร็จ จะไม่สำเร็จก็ตรงที่จิตหนีไปเสียเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันกลับเข้าไปในประตู หรือเข้าประตูแล้วลอดหนีไปทางไหนเสียก็ได้ ทั้งนี้เพราะระยะที่ว่างหรือเงียบนั้น เป็นไปไม่ถูกต้องและทำไม่ดีมาตั้งแต่ข้างต้นของขั้นนี้ เพราะฉะนั้น ควรทำให้ดีหนักแน่นและแม่นยำมาตั้งแต่ขั้นแรก คือ ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" นั้นทีเดียว

๑๕. แม้ขั้นต้นที่สุดหรือที่เรียกว่า "วิ่งตามตลอดเวลา" นั้น ก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายสำหรับทุกคน และเมื่อทำได้ก็มีผลเกินคาดมาแล้วทั้งกายและใจ จึงควรทำให้ได้และทำให้เสมอๆ จนเป็นของเล่น อย่างการบริหารกายมีเวลาสองนาทีก็ทำ เริ่มหายใจให้แรงจนกระดูกลั่นก็ยิ่งดี จนมีเสียงหวีดหรือซูดซาดก็ได้ แล้วค่อยบ่อนให้เบาๆ ไปจนเข้าระดับปกติของมัน

๑๖. ตามธรรมดาที่คนเราหายใจอยู่นั้นไม่ใช่ระดับปกติ แต่ว่าต่ำกว่าหรือน้อยกว่าปกติโดยไม่รู้สึกตัว โดยเฉพาะเมื่อทำกิจการงานต่างๆ หรืออยู่อิริยาบถที่ไม่เป็นอิสระนั้น ลมหายใจของตัวเองอยู่ในลักษณะที่ต่ำกว่าปกติที่ควรจะเป็นทั้งที่ตนเองไม่ทราบได้ เพราะฉะนั้นจึงให้เริ่มด้วยหายใจอย่างรุนแรงเสียก่อน แล้วจึงค่อยปล่อยให้เป็นไปตามปกติ อย่างนี้จะได้ลมหายใจที่เป็นสายกลางหรือพอดี และทำร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติด้วย เหมาะสำหรับจะกำหนดเป็นนิมิตของอานาปานัสสติในขั้นต้นนี้ด้วย

๑๗. ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การบริกรรมขั้นต้นที่สุดนี้ ขอให้ทำจนเป็นของเล่นปกติสำหรับทุกคน และทุกโอกาสเถิดจะมีประโยชน์ในส่วนสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ อย่างยิ่งแล้วจะเป็นบันไดสำหรับขั้นสองต่อไปอีกด้วย แท้จริงความแตกต่างกันในระหว่าง ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" กับขั้น "ดักดูอยู่เป็นแห่งๆ" นั้น มีไม่มากมายอะไรนัก เป็นแต่การผ่อนให้ประณีตเข้า คือ มีระยะการกำหนดด้วยสติน้อยแต่คงมีผล คือ จิตหนีไปไม่ได้เท่ากัน

๑๘. เพื่อให้เข้าใจง่าย จะเปรียบกันกับพี่เลี้ยงที่ไกวเปลเด็กอยู่ข้างเสาเปล ขั้นแรกก็จับเด็กใส่ลงในเปลแล้วเด็กยังไม่ง่วง ยังคอยจะดิ้นหรือลุกออกไปจากเปล ในขั้นนี้พี่เลี้ยงจะต้องคอยจับตาดูแหงนหน้าไปมา ดูเปลไม่ให้วางตาได้ซ้ายทีขวาทีอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เด็กมีโอกาสตกลงมาจากเปลได้ ครั้นเด็กชักจะยอมนอนคือไม่ค่อยจะดิ้นรนแล้ว พี่เลี้ยงก็หมดความจำเป็นที่จะต้องแหงนหน้าไปมา ซ้ายทีขวาที ตามระยะที่เปลไกวไปไกวมา พี่เลี้ยงคงเพียงแต่มองเด็กเมื่อเปลไกวมาตรงหน้าตนเท่านั้นก็พอแล้ว มองแต่เพียงครึ่งหนึ่งๆ เป็นระยะๆ ขณะที่เปลไกวไปมาตรงหน้าตนพอดี เด็กก็ไม่มีโอกาสลงจากเปลเหมือนกันเพราะเด็กชักจะยอมนอนขึ้นมาดังกล่าวแล้ว

๑๙. ระยะแรกของการบริกรรม กำหนดลมหายใจในขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" นี้ก็เปรียบกันได้กับระยะที่พี่เลี้ยงต้องคอยส่ายหน้าไปมาตามเปลที่ไกวไม่ให้วางตาได้ ส่วนระยะที่สองที่กำหนดลมหายใจเฉพาะที่ปลายจมูกหรือที่รียกว่า ขั้น "ดักอยู่แห่งใดแห่งหนึ่ง" นั้น ก็คือขั้นที่เด็กชักจะง่วงและยอมนอนจนพี่เลี้ยงจับตาดูเฉพาะเมื่อเปลไกวมาตรงหน้าตนนั้นเอง

๒๐. เมื่อฝึกหัดมาได้ถึงขั้นที่สองนี้อย่างเต็มที่ ก็อาจฝึกต่อไปถึงขั้นที่ผ่อนระยะการกำหนดของ สติ ให้ประณีตเข้าๆ จนเกิด สมาธิชนิดแน่วแน่ เป็นลำดับไปจนถึง ฌานขั้นใดขั้นหนึ่งได้ ซึ่งพ้นไปจากสมาธิ อย่างง่ายๆในขั้นต้น สำหรับคนธรรมดาทั่วไปและไม่สามารถนำมากล่าวรวมกันไว้ในที่นี้เพราะเป็นเรื่องละเอียดรัดกุม มีหลักเกณฑ์ที่ซับซ้อนต้องศึกษากัน เฉพาะผู้สนใจถึงขั้นนั้น ในขณะนี้เพียงแต่ขอให้สนใจในขั้นมูลฐานกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นของเคยชินเป็นธรรมดาอันอาจจะตะล่อมเข้าขั้นสูงขั้นไปตามลำดับในภายหลัง


สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้พบ

ขอให้ฆราวาสทั่วไปได้มีโอกาสทำสมาธิ ชนิดที่อาจทำประโยชน์ทั้งทางกายและทางใจ สมความต้องการในขั้นต้นเสียขั้นหนึ่งก่อน เพื่อจะได้เป็นผู้ชื่อว่ามี ศีล สมาธิ ปัญญา ครบสามประการ หรือ มีความเป็นผู้ประกอบตนอยู่ในมรรคมีองค์แปดประการได้ครบถ้วน แม้ในขั้นต้น ก็ยังดีกว่าไม่มีเป็นไหนๆ กายระงับลงไปกว่าที่เป็นกันอยู่ตามปกติก็ด้วยการฝึกสมาธิขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับๆ เท่านั้น และจะได้พบ "สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้พบ" อีกสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้ไม่เสียทีที่เกิดมา

Credit : http://www.dhammathai.org

วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

 วิธีแก้ไขนิวรณ์ 5


เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้นมีวิธีแก้ดังนี้คือ

๑ กามฉันทะ แก้ได้หลายวิธีตามลักษณะของกามฉันทะที่เกิดขึ้น ดังนี้

พิจารณาถึงความจริงที่ว่ากามคุณทั้งหลายนั้นมีสุขน้อยมีทุกข์มาก คือให้ความสุขในช่วงที่ได้มาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเสมือนเหยื่อล่อให้ติด ครั้นเมื่อติดในสิ่งนั้น ๆ แล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็จะตามมา ถ้ายิ่งถูกใจมากเท่าใด ก็จะยิ่งนำความทุกข์มาให้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการแสวงหาเพื่อให้ได้มากยิ่งขึ้น ทุกข์จากการพยายามรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ ทุกข์จากความหวงแหน ความกลัวว่าจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป และเมื่อต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป ก็จะยิ่งเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราทั้งหลายล้วนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

พิจารณาถึงความที่สิ่งทั้งหลายมีความแปรปรวนไปตลอดเวลา สิ่งที่ให้ความสุขในวันนี้ ก็อาจจะนำความทุกข์มาให้ได้ในวันข้างหน้า เช่น คนที่ทำดีกับเราในวันนี้ ต่อไปถ้าเขาเบื่อ หรือไม่พอใจอะไรเราขึ้นมา เขาก็อาจจะร้ายกับเราอย่างมากก็ได้

พิจารณาถึงความเป็นอสุภะ คือเป็นของไม่สวยไม่งาม เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ร่างกายที่เห็นว่าสวยงามในตอนนี้ จะคงสภาพอยู่ได้นานสักเท่าใด พอแก่ตัวขึ้นก็ย่อมจะหย่อนยาน เหี่ยวย่นไม่น่าดู ถึงแม้ในตอนนี้เอง ก็เต็มไปด้วยของสกปรกไปทั้งตัว ตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า (ไม่เชื่อก็ลองไม่อาบน้ำดูสักวันสองวันก็จะรู้เอง) ลองพิจารณาดูเถิด ว่ามีส่วนไหนที่ไม่ต้องคอยทำความสะอาดบ้าง และถ้าถึงเวลาที่กลายสภาพเป็นเพียงซากศพแล้วจะขนาดไหน

พิจารณาถึงคุณของการออกจากกาม หรือประโยชน์ของสมาธิ เช่น

เป็นความสุขที่ประณีต ละเอียดอ่อน เบาสบายไม่หนักอึ้งเหมือนกาม คนที่ได้สัมผัสกับความสุขจากสมาธิสักครั้ง ก็จะรู้ได้เองว่าเหนือกว่าความสุขจากกามมากเพียงใด

เป็นความสุขที่ไม่ต้องแสวงหาจากภายนอก เพราะเกิดจากความสงบภายใน จึงไม่ต้องมีการแย่งชิง ไม่ต้องยื้อแย่งแข่งขัน ไม่ต้องกลัวถูกลักขโมย

เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีวัตถุใดๆ มาเป็นเครื่องล่อ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น





๒ พยาปาทะ มีวิธีแก้ดังนี้

มองโลกในแง่ดีให้เห็นว่าคนที่ทำให้เราไม่พอใจนั้น เขาคงไม่ได้ตั้งใจหรอก เขาคงทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเข้าใจผิด หรือถูกเหตุการณ์บังคับ ถ้าเขารู้หรือเลือกได้เขาคงไม่ทำอย่างนั้น

คิดถึงหลักความจริงที่ว่า คนเราเมื่ออยู่ใกล้กัน ก็ย่อมมีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกใจคนอื่น ได้เป็นครั้งคราวอยู่แล้ว เพราะคงไม่มีใครสามารถทำให้ถูกใจคนอื่นได้ตลอดเวลา แม้ตัวเราเองก็ยังเคยทำให้คนอื่นไม่พอใจเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อคนอื่นทำไม่ถูกใจเราบ้าง ก็ย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ควรจะถือโทษโกรธกันให้เป็นทุกข์กันไปเปล่าๆ

พิจารณาถึงคุณของการให้อภัย ว่าอภัยทานนั้นเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นการทำบุญโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย

คิดเสียว่าเป็นการฝึกจิตของตัวเราเองให้เข้มแข็งขึ้น โดยการพยายามเอาชนะใจตนเอง เอาชนะความโกรธ และขอบคุณผู้ที่ทำให้เราโกรธที่ให้โอกาสในการฝึกจิตแก่เรา ให้เราได้สร้างและเพิ่มพูนขันติบารมี

คิดถึงเรื่องกฎแห่งกรรม ว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน ใครสร้างกรรมอันใดไว้ ย่อมต้องรับผลกรรมนั้นๆ สืบไป การที่เราเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีในครั้งนี้ ก็คงเป็นเพราะกรรมเก่าที่เราได้ทำเอาไว้ สำหรับคนที่ทำไม่ดีกับเราในครั้งนี้นั้น เขาก็จะได้รับผลกรรมนั้นเองในวันข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ให้ความรู้สึกสงสารผู้ที่ทำไม่ดีกับเราในครั้งนี้ ว่าเขาไม่น่าทำอย่างนั้นเลย เพราะเมื่อเขาทำแล้ว ต่อไปเมื่อกรรมนั้นส่งผล เขาก็จะต้องเป็นทุกข์ทรมานเพราะกรรมนั้น

พิจารณาโทษของความโกรธ ว่าคนที่โกรธก็เหมือนกับจุดไฟเผาตัวเอง ทำให้ต้องเป็นทุกข์เร่าร้อน หน้าตาก็ไม่น่าดู แถมยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย เพราะฉะนั้นก็มีแต่คนโง่ กับคนบ้าเท่านั้นที่ผูกโกรธเอาไว้

แผ่เมตตาให้กับคนที่เราโกรธ ถ้าทำได้นอกจากจะดับทุกข์จากความโกรธได้แล้ว ยังทำให้มีความสุขจากการแผ่เมตตานั้นอีกด้วย และยังจะเป็นการพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปด้วย





๓ ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะคือความหดหู่ท้อถอยนั้นแก้โดยพิจารณาถึงโทษของกามและคุณของสมาธิ เพื่อทำให้เกิดความเพียร ในการปฏิบัติให้พ้นจากโทษของกามเหล่านั้น คบหากับคนที่มีความเพียร ฝักใฝ่ยินดีในการทำสมาธิ หลีกเว้นจากคนที่ไม่ชอบทำสมาธิ หรือคนที่เบื่อหน่ายในสมาธิ

ส่วนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอนนั้น มีวิธีแก้หลายวิธี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระโมคคัลลานะ สรุปได้เป็นขั้นๆ ดังนี้

ในขณะที่เพ่งจิตในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ เพื่อทำสมาธิหรือวิปัสสนาก็ตาม แล้วเกิดความง่วงขึ้นมา ให้เพ่งสิ่งนั้นให้มาก หรือให้หนักแน่นขึ้นไปอีก ก็จะทำให้หายง่วงได้

ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ตรึกตรอง พิจารณาธรรมที่ได้อ่าน หรือได้ฟัง ได้เรียนมาแล้ว โดยนึกในใจ

ถ้ายังไม่หายง่วงให้สาธยายธรรมที่ได้อ่าน ได้ฟัง หรือได้เรียนมาแล้ว คือให้พูดออกเสียงด้วย

ถ้ายังไม่หายง่วงให้ยอนช่องหูทั้งสองข้าง (เอานิ้วไชเข้าไปในรูหู) เอามือลูบตัว

ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ (คือให้มองไปทางโน้นทีทางนี้ที บิดคอไปมา)

ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ทำในใจถึงอาโลกสัญญา (นึกถึงแสงสว่าง) ตั้งความสำคัญในกลางวัน ว่ากลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด (คือให้ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า กลางคืนนั้นสว่างราวกับเป็นกลางวัน)

ถ้ายังไม่หายง่วง ให้เดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก (ควรเดินเร็วๆ ให้หายง่วง)

ถ้ายังไม่หายง่วงอีก ให้สำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า (เหมือนพระพุทธรูปนอน) มีสติสัมปชัญญะ โดยบอกกับตัวเองว่า ทันทีที่รู้สึกตัวตื่นแล้ว จะรีบลุกขึ้นทันที ด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ





๔ อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต แก้โดย ใช้เทคนิคกลั้นลมหายใจ (เทคนิคนี้นอกจากจะใช้แก้ความฟุ้งซ่านได้แล้ว ยังใช้ในการแก้ความง่วงได้อีกด้วย) โดยการทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

เริ่มจากการหายใจเข้าออกให้ลึกที่สุด โดยทำเหมือนถอนหายใจแรงๆ สัก 3 รอบ  จากนั้นทำสิ่งต่อไปนี้พร้อมกันคือ  ใช้ลิ้นดุนเพดานปากอย่างแรง  หลับตาปี๋  เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และกล้ามเนื้อทั่วร่างกายให้มากที่สุด   กลั้นลมหายใจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับทำสมาธิ โดยกำหนดจิตไว้ที่การกลั้นลมหายใจนั้น เพิ่มความหนักแน่น หรือความถี่ของสิ่งที่ใช้ยึดจิตขึ้นไปอีก เพื่อให้สามารถประคองจิตได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือลดโอกาสในการฟุ้งให้น้อยลง เช่น ถ้าตอนแรกใช้กำหนดลมหายใจเข้า/ออก โดยบริกรรมว่าพุทธ/โธ หรือ เข้า/ออก ซ้ำไปซ้ำมา ก็เปลี่ยนเป็นนับลมหายใจแทน โดยหายใจเข้านับ 1 ออกนับ 1 เข้า-2 ออก-2 ... จนถึง เข้า-10 ออก-10 แล้วเริ่มนับ 1 ใหม่ การนับนี้ให้ลากเสียง(ในใจ) ให้ยาวตั้งแต่เริ่มหายใจเข้าหรือออก จนกระทั่งสุดลมหายใจ เพื่อให้จิตเกาะติดกับเสียงนั้นไปตลอด

ถ้ายังไม่หายก็เปลี่ยนเป็น เข้า-1 ออก-2 เข้า-3 ออก-4 ...... เข้า-9 ออก-10 แล้วเริ่มนับ 1 ใหม่

ถ้ายังไม่หายอีกก็เปลี่ยนเป็นรอบแรกนับจาก 1จนถึง 10 (เหมือนครั้งที่แล้ว) รอบที่สองนับจาก 1 - 9 ลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือนับ 1 - 5 แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเป็น 1 - 6 ...... จนถึง 1 - 10 แล้วลดลงใหม่จนเหลือ 1 - 5 แล้วเพิ่มขึ้นจนถึง 1 - 10 กลับไปกลับมาเรื่อยๆ เพื่อให้ต้องเพิ่มความตั้งใจขึ้นอีก

ถ้ายังไม่หายอีกก็เปลี่ยนเป็นนับเลขอย่างเร็ว คือขณะหายใจเข้าแต่ละครั้งก็นับเลข 1,2,3,... อย่างรวดเร็วจนกว่าจะสุดลมหายใจ พอเริ่มหายใจออกก็เริ่มนับ 1,2,3,... ใหม่จนสุดลมหายใจเช่นกัน ทั้งนี้ไม่ต้องไปกำหนดว่าตอนหายใจเข้า/ออกแต่ละครั้งจะต้องนับได้ถึงเลขอะไร เช่น หายใจเข้าครั้งแรกอาจจะนับได้ถึง 12 พอหายใจออกอาจจะได้แค่ 10 หายใจเข้าครั้งต่อไปอาจจะได้แค่ 9 ก็ได้

*** ในการหายใจนั้นที่สำคัญคือให้หายใจให้เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด อย่าไปบังคับลมหายใจให้ยาวหรือสั้น บางขณะอาจหายใจยาว บางขณะอาจสั้นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน เรามีหน้าที่เพียงแค่สังเกตดูเท่านั้น

*** ทำใจให้สบาย อย่ามุ่งมั่นมากเกินไปจนเครียด จะทำให้ฟุ้งซ่านหนักขึ้น ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วจะดีขึ้นเอง อย่าหวัง อย่ากำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันนี้จะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ปล่อยวางให้มากที่สุด ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน คือเพียงแค่สังเกตว่าตอนนี้เป็นอย่างไรก็พอแล้ว อย่าคิดบังคับให้สมาธิเกิด ยิ่งบีบแน่นมันจะยิ่งทะลักออกมา ยิ่งฟุ้งไปกันใหญ่

*** ถ้านับเลขผิดให้เริ่มต้นนับ 1 ใหม่ แล้วดูว่าวันนี้จะนับได้มากที่สุดถึงแค่ไหน

*** เมื่อนับถี่ที่สุดถึงขั้นไหนแล้วเอาจิตให้อยู่ได้ก็หยุดอยู่แค่ขั้นนั้น พอฝึกจิตได้นิ่งพอสมควรแล้ว ก็ลองลดการนับไปใช้ขั้นที่เบาลงเรื่อยๆ จิตจะได้ประณีตขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนกุกกุจจะคือความรำคาญใจ นั้นแก้ได้โดย พยายามปล่อยวางในสิ่งนั้นๆ โดยคิดว่าอดีตก็ผ่านไปแล้ว คิดมากไปก็เท่านั้น อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เรามาทำปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า ตอนนี้เป็นเวลาทำกรรมฐาน เพราะฉะนั้นอย่างอื่นพักไว้ก่อน ยังไม่ถึงเวลาคิดเรื่องเหล่านั้น ถ้าแก้ไม่หายจริงๆ ก็ไปจัดการเรื่องเหล่านั้นให้เรียบร้อย แล้วถึงกลับมาทำกรรมฐานใหม่ก็ได้








๕ วิจิกิจฉา แก้ได้โดย พยายามศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุด ถ้ายังไม่แน่ใจก็คิดว่าเราจะลองทางนี้ดูก่อน ถ้าถูกก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าผิดเราก็จะได้รู้ว่าผิด จะได้หายสงสัย แล้วจะได้พิจารณาหาทางอื่นที่ถูกได้ ยังไงก็ดีกว่ามัวแต่สงสัยอยู่ แล้วไม่ได้ลองทำอะไรเลย ซึ่งจะทำให้ต้องสงสัยตลอดไป





Credit : http://www.dhammathai.org


นิวรณ์ ๕


นิวรณ์ คือสิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ มี 5 อย่างคือ

กามฉันทะ คือความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น)

พยาปาทะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ

ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะคือความหดหู่ท้อถอย และมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน
ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป  ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้ง)

อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ  อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที   ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้

วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น

นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนี้ มีเฉพาะอุทธัจจะเท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นอกนั้น เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอ

นิวรณ์ทั้ง5 เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนาเลย ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอีกด้วย เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ให้เรียนรู้ได้เสมอ นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ของจิตเช่นกัน

๏ สมาธิ 40 วิธี ๏


สิ่งที่ใช้ในการยึดจิตในการทำสมาธิ ที่เรียกว่าอารมณ์ของสมาธินั้น ในทางพระพุทธศาสนา อาจารย์ในสมัยโบราณได้รวบรวมไว้ได้ถึง 40 อย่าง แยกเป็นกลุ่มได้ดังนี้คือ

 กสิณ 10 ประกอบด้วย

1.) กสิณดิน คือการเพ่งดินที่นำมาปั้นเป็นวงกลม(แบน) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงความแข็งของดิน ไม่ใช่เพ่งที่สีของดินนั้น เพราะจะกลายเป็นกสิณสีต่างๆ แทน
2.) กสิณน้ำ คือการเพ่งน้ำที่บรรจุในภาชนะปากกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
3.) กสิณไฟ คือการเพ่งเปลวไฟผ่านช่องที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงความร้อนของไฟ
4.) กสิณลม คือการเพ่งอาการเคลื่อนไหวของใบไม้ กิ่งไม้ที่ถูกลมพัด
5.) กสิณสีเขียว คือการเพ่งวัตถุสีเขียว เช่น กระดาษสีเขียว ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงสีเขียวที่ปรากฏ
6.) กสิณสีเหลือง คือการเพ่งวัตถุสีเหลือง เช่น กระดาษสีเหลือง ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
7.) กสิณสีแดง คือการเพ่งวัตถุสีแดง เช่น กระดาษสีแดง ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
8.) กสิณสีขาว คือการเพ่งวัตถุสีขาว เช่น กระดาษสีขาว ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
9.) กสิณแสงสว่าง คือการเพ่งแสงสว่างที่ลอดช่องหลังคาลงมากระทบพื้น หรือฝาผนังเป็นวงกลม หรืออาจจะประยุกต์ใช้แสงอย่างอื่นก็ได้ โดยทำความรู้สึกถึงความสว่าง ไม่ใช่เพ่งที่สีของแสงนั้น
10.) อากาสกสิณ (ช่องว่าง) คือการเพ่งช่องว่างต่างๆ เช่น ช่องว่างในกรอบหน้าต่าง ประตู





 อสุภะ 10 

      คือการเพ่งซากศพชนิดต่างๆ มีข้อดีคือ ภาพจะติดตาได้ง่ายมาก และจะได้เตือนใจถึงความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ประกอบด้วย

1.) ศพขึ้นอืด

2.) ศพที่เปลี่ยนสภาพเป็นสีเขียวคล้ำปนกับสีอื่นๆ
3.) ศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม
4.) ศพที่ขาดเป็น 2 ท่อน
5.) ศพที่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว
6.) ศพที่ขาดกระจุยกระจาย มือ เท้า ศีรษะแยกขาดไปอยู่ข้างๆ
7.) ศพที่ถูกสับเป็นท่อนๆ กระจัดกระจาย
8.) ศพที่มีเลือดอาบ
9.) ศพที่ถูกหนอนชอนไชเต็มไปหมด
10.) ศพที่เหลือแต่กระดูก



 อนุสติ 10 ประกอบด้วย

1.) พุทธานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา

2.) ธัมมานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระธรรม ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา
3.) สังฆานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์ ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา
4.) สีลานุสติ คือการระลึกถึงความบริสุทธิ์ของศีลของตนเอง ด้วยความอิ่มเอิบใจ พร้อมด้วยการพิจารณาถึงอานิสงส์ต่างๆ ที่จะได้รับจากความบริสุทธิ์ของศีลนั้น 
5.) จาคานุสติ คือการระลึกถึงการให้ทานที่ตนได้ทำไปแล้ว ด้วยความอิ่มเอิบใจ พร้อมด้วยการพิจารณาถึงอานิสงส์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการให้ทานนั้น
6.) เทวตานุสติ คือการพิจารณาถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ทำให้เกิดเป็นเทวดา แล้วระลึกถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ตนได้ทำไว้แล้ว อันจะส่งผลให้ได้เกิดเป็นเทวดา
7.) มรณานุสติ คือการระลึกถึงความตายที่ต้องมีขึ้นเป็นธรรมดา โดยไม่รู้ว่าจะช้าหรือเร็วเท่าใด จะได้ไม่ประมาทในการรีบทำบุญกุศลต่างๆ รวมทั้งมีความเพียรในการทำกรรมฐาน คือสมาธิ และวิปัสสนา เพื่อให้พร้อมสำหรับความตาย
8.) กายคตาสติ คือการพิจารณาถึงร่างกายว่าประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ เช่น ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก ฯลฯ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด น่าเกลียด ไม่สวยงาม เป็นที่เกิดของโรคนานาชนิด ไม่น่ารักน่าใคร่ เพื่อไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาในกาย
9.) อานาปานสติ คือการเพ่งลมหายใจเข้าออก
10.) อุปสมานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระนิพพาน




 อัปปมัญญา 4 คือ การแผ่ความรู้สึกออกไปโดยไม่มีประมาณ ประกอบด้วย


1.) เมตตา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข

2.) กรุณา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์
3.) มุทิตา คือความยินดีที่ผู้อื่นมีความสุข
4.) อุเบกขา คือความรู้สึกที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความสุขความทุกข์ของผู้อื่น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม จึงทำลายความยินดียินร้าย ความชอบความชังลงได้ วางจิตให้เป็นกลาง ไม่ฟูไม่แฟบ ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว สงบนิ่งอยู่

 อื่นๆ อีก 2 อย่างคือ


1.) อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือการพิจารณาถึงความเป็นปฏิกูล น่ารังเกียจ ของอาหารที่รับประทานเข้าไป พิจารณาถึงการแปรสภาพของอาหาร ตั้งแต่ถูกเคี้ยว คลุกเคล้ากับน้ำลายอยู่ในปาก ผ่านไปยังกระเพาะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ จนกระทั่งออกมาจากร่างกายอีกครั้ง ด้วยสภาพที่บูดเน่า น่ารังเกียจ เพื่อประโยชน์ในการไม่ติดในรสอาหาร รวมถึงป้องกันกิเลสตัวอื่นๆ ที่จะเกิดจากอาหาร 

2.) จตุธาตุววัฏฐาน คือการพิจารณาร่างกายของตนว่าเป็นเพียงธาตุ 4 คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม เท่านั้น ปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เพื่อขจัดความยึดมั่นถือมั่น

 อรูปสมาบัติ 4 คือ การใช้สิ่งที่ไม่ใช่รูปธรรมเป็นเครื่องยึดจิต เป็นสมาธิขั้นสูงกว่าขั้นที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด (ซึ่งเป็นรูปสมาบัติ) ประกอบด้วย


1.) อากาสานัญจายตนะ คือการเพ่งช่องว่างที่กว้างใหญ่หาที่สุดไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการเพิกรูปธรรม (เช่น นิมิตต่างๆ ที่ใช้ยึดจิตในรูปสมาบัติ) ออกไป ในชั้นอรูปสมาบัตินี้ จะพ้นจากความยินดีพอใจในรูปธรรมทั้งปวง ยินดีพอใจเฉพาะในนามธรรมเท่านั้น 

2.) วิญญาณัญจายตนะ คือการเพ่ง หรือทำความรู้สึกไปที่วิญญาณหรือจิต ที่แผ่ออกไปรับรู้ความรู้สึกในช่องว่างที่กว้างใหญ่ไพศาลในขั้นอากาสานัญจายตนะนั้น จิตจะละเอียด ประณีตกว่าอากาสานัญจายตนะ 
3.) อากิญจัญญายตนะ คือการทำความรู้สึกถึงความไม่มีอะไรเลย หลังจากเพิกวิญญาณัญจายตนะออกไป จิตจึงละเอียดประณีตขึ้นไปอีก
4.) เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือความรู้สึกที่เหลืออยู่น้อยมาก จนแทบไม่รู้สึกตัวเลย หลังจากเพิกความรู้สึกในอากิญจัญญายตนะออกไป เป็นจิตที่ละเอียด ประณีตที่สุดที่ปุถุชน โสดาบัน และสกทาคามีบุคคลจะทำได้ (อนาคามีบุคคล และพระอรหันต์จะทำได้ถึงขั้นหมดความรู้สึกตัวอย่างสิ้นเชิง ที่เรียกว่านิโรธสมาบัติ หรือสัญญาเวทยิตนิโรธ




Credit : http://www.dhammathai.org

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

๏ จริต 6 ๏


คำว่า  จริยา หมายถึงลักษณะอันเป็นพื้นฐานของจิต หรือนิสัยอันเป็นพื้นเพของบุคคลแต่ละคน
คำว่า  จริต ใช้เรียกบุคคลที่มีจริยาอย่างนั้นๆ เช่น คนมีโทสจริยา เรียกว่า โทสจริต

จริตนั้นแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 6 ประเภท หรือ 6 จริต คือ

๑.ราคจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางราคะ รักสวยรักงาม ละมุนละไม ชอบสิ่งที่สวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ สัมผัสที่นุ่มละมุน และจิตใจจะยึดเกาะกับสิ่งเหล่านั้นได้เป็นเวลานานๆ 
๒.โทสจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อน วู่วาม หงุดหงิดง่าย อารมณ์รุนแรง โผงผาง เจ้าอารมณ์ 
๓.โมหจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโมหะ เขลา เซื่องซึม เชื่อคนง่าย งมงาย ขาดเหตุผล มองอะไรไม่ทะลุปรุโปร่ง 
๔.วิตักกจริต หรือวิตกจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางฟุ้งซ่าน คิดเรื่องนี้ทีเรื่องนั้นที เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สามารถยึดเกาะกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ
วิตก แปลว่าการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือการเพ่งจิตสู่ความคิดในเรื่องต่างๆ ไม่ได้หมายถึงความกังวลใจ วิตกจริตจึงหมายถึง ผู้ที่เดี๋ยวยกจิตสู่เรื่องโน้น เดื๋ยวยกจิตสู่เรื่องนี้ ไม่ตั้งมั่น ไม่มั่นคงนั่นเอง 
๕.ศรัทธาจริต หรือสัทธาจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางศรัทธา น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสได้ง่าย ซึ่งถ้าเลื่อมใสในสิ่งที่ถูกก็ย่อมเป็นคุณ แต่ถ้าไปเลื่อมใสในสิ่งที่ผิดก็ย่อมเป็นโทษต่างจากโมหจริตตรงที่โมหจริตนั้นเชื่อแบบเซื่องซึม ส่วนศรัทธาจริตนั้นเชื่อด้วยความเลื่อมใส เบิกบานใจ 
๖.ญาณจริต หรือพุทธิจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางชอบคิด พิจารณาด้วยเหตุผลอย่างลึกซึ้ง ชอบใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง ไม่เชื่ออะไรโดยไม่มีเหตุผล

โดยความเป็นจริงแล้ว คนเรามักมีจริตมากกว่า 1 อย่างผสมกัน เช่น ราคโทสจริต ราคโมหจริต โทสโมหจริต ราคโทสโมหจริต สัทธาพุทธิจริต สัทธาวิตกจริต พุทธิวิตกจริต สัทธาพุทธิวิตกจริต เป็นต้น เมื่อรวมกับจริตหลัก 6 ชนิด จึงได้เป็นบุคคล 14 ประเภท หรือ 14 จริต

ซึ่งบุคคลแต่ละจริตก็เหมาะที่จะทำกรรมฐานแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป

เครดิต : http://www.dhammathai.org